

กระซู่
กระซู่
Sumatran Rhinoceros
ลักษณะ
กระซู่เป็นสัตว์กีบคี่จำพวกแรด ลักษณะเด่นคือมี นอ 2 นอ นอหน้าใหญ่กว่านอหลัง หนังของกระซู่มีสีน้ำตาลแดง มีขนหยาบและยาวปกคลุม เมื่อโตเต็มที่สูง 120–145 ซม. ยาว 250 ซม. และมีน้ำหนักประมาณ 500-800 กก. พบอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้น ป่าพรุ และ ป่าดิบเขาในประเทศอินเดีย ภูฏาน บังกลาเทศ พม่า ลาว ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน กระซู่เป็นสัตว์สันโดษ มักพบหากินตามลำพัง ยกเว้นในช่วงฤดูผสมพันธุ์และเลี้ยงลูกอ่อน ว่ายน้ำเก่ง สามารถว่ายน้ำข้ามแม่น้ำที่เชี่ยวกรากได้ ชอบนอนแช่ปลักโคลนมาก หากหาปลักโคลนไม่ได้ กระซู่จะขุดดินเลนด้วยขาและนอเพื่อสร้างปลัก การแช่ปลักโคลนนี้จะช่วยรักษาระดับอุณหภูมิของร่างกายและช่วยป้องกันผิวหนังจากปรสิตและแมลงอื่นๆ (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)



กระซู่ถูกคุกคามจนอยู่ในขั้นวิกฤติ สาเหตุอันดับแรกของการลดลงของจำนวนประชากรคือการล่าเอานอซึ่งมีค่ามากในการแพทย์แผนจีน ขายได้ถึง 30,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัมในตลาดมืด นอกจากนี้ยังถูกคุกคามถิ่นอาศัยจากอุตสาหกรรมป่าไม้และเกษตรกรรม
ในอดีตประเทศไทยเองก็มีรายงานถึงการพบกระซู่ในหลาย ๆ แห่งได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติเขาสก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
ปัจจุบันคงเหลือประชากรกระซู่ ไม่ถึง 100 ตัว และพบบนเกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น (www.savetherhino.org)


