top of page

ละอง หรือละมั่ง (Eld’s Deer)



ประชากรรวม : น้อยกว่า 2,500 ตัว
ประชากรในประเทศไทย : 70 – 80 ตัว

ละอง หรือละมั่ง เป็นกวางพื้นเมืองของไทย ละอง ใช้เรียกตัวผู้ตัวเต็มวัย ละมั่ง ใช้เรียกตัวเมีย และตัวที่ยังไม่เต็มวัย แต่นิยมเรียกละมั่งเหมือนกันทั้งหมด ลำตัวมีขนละเอียดสีน้ำตาลแกมเหลือง ขนด้านบนมีสีแดงอมน้ำตาล ส่วนท้องมีสีขาว หรือสีครีม มีขนสีขาวรอบหู ตา และคาง ลำคอยาว ใบหูใหญ่ ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ตัวผู้โตเต็มวัยมีขนหยาบยาวสีน้ำตาลเข้มบริเวณรอบคอ ลูกละมั่งจะมีลายจุดสีขาวตามตัว เมื่อโตขึ้นลายจุดจะหายไป แต่ในละมั่งเพศเมียตัวเต็มวัยบางตัวอาจยังปรากฏลายจุดจางๆให้เห็นอยู่ ละมั่งมีเขาเฉพาะเพศผู้ ลำเขาเป็นแกนกระดูกที่งอกติดกับกะโหลก หลังจากผสมพันธุ์แล้วจะผลัดเขา เขาละมั่งจะมีกิ่งรับหมายื่นยาวออกไปข้างหน้าตามแนวหน้าผาก ขณะที่ตัวลำเขาโค้งยาวไปด้านหลัง โดยกิ่งรับหมากับลำเขาเชื่อมต่อกันตรงโคนเขา เป็นเส้นโค้งต่อเนื่องเป็นลำเดียวกัน ปลายเขางอกลับคล้ายตะขอและแตกแขนง

ละมั่ง มักจะอยู่รวมกันเป็นฝูงประมาณ 5-6 ตัว บางครั้งอาจเป็นฝูงใหญ่ประมาณ 50 ตัว มักอาศัยตามป่าเต็งรัง ป่าโปร่ง หรือทุ่งหญ้าใกล้แหล่งน้ำ ตัวผู้มักอาศัยตามลำพัง จะเข้ารวมฝูงเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ละมั่งออกหากินช่วงเช้าและเย็น กลางวันมักจะนอนพักใต้ร่มไม้ บางครั้งตัวผู้อาจลงแช่ปลักบ้างในช่วงที่อากาศร้อน กินหญ้าและลูกไม้ ผลไม้ เป็นอาหารหลัก

ในประเทศไทยพบละมั่งสองชนิดย่อย ได้แก่ ละมั่งพม่า มีจำนวนประมาณ 50-60 ตัว โดยกระจายพันธุ์อยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศ และละมั่งพันธุ์ไทย มีจำนวนเหลืองเพียงประมาณ 20 ตัว โดยพบทางภาคตะวันออกของประเทศ

Comentarios


bottom of page