top of page

นกแต้วแร้วท้องดำ(Gurney's Pitta)


ประชากรรวม : ประมาณ 100 ตัว
ประชากรในประเทศไทย : น้อยกว่า 10 ตัว

นกแต้วแร้วท้องดำถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1875 ในเขตตะนาวศรี ประเทศพม่า โดยมีการตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษและชื่อวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นเกียรติแก่ จอห์น เฮนรี เกอนีย์ นายธนาคารและนักปักษีวิทยาสมัครเล่นชาวอังกฤษ มีรายงานการพบครั้งสุดท้าย ในประเทศพม่าปี ค.ศ. 1914 และไม่พบอีกเลยติดต่อกันนานถึง 50 ปี ทำให้ CITES ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1986 ถูกค้นพบในประเทศไทยที่จังหวัดกระบี่โดย ฟิลิป ดี. ราวด์ และ อุทัย ตรีสุคนธ์ โดยพบ 44-45 คู่ แต่ในปี ค.ศ. 1997 เหลือเพียง 9 คู่เท่านั้น จึงถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าสงวน 19 ชนิดของไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

นกแต้วแร้วท้องดำมีรูปร่างอ้วนป้อม คอสั้น หัวโต หางสั้น ลำตัวยาว 22 เซนติเมตร ตัวผู้หัวมีสีดำ กระหม่อมและท้ายทอยสีน้ำเงินเหลือบฟ้า หางสีน้ำเงินอมเขียว ท้องสีเหลืองสดมีริ้วสีดำบาง ๆ พาดสลับตลอดช่วงท้อง ใต้ท้องมีแต้มสีดำ อันเป็นที่มาของชื่อ ตัวเมียกระหม่อมสีเหลืองอ่อน มีแถบดำผ่านใต้ตาลงไปถึงแก้ม ท้องสีขาว มีแถบสีน้ำตาลขวางจากอกลงไปถึงก้นพบอาศัยอยู่ในป่าดิบที่ราบต่ำ ที่มีระดับความสูงไม่เกิน 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามที่ราบ ใกล้ร่องน้ำหรือลำธารที่ชื้นแฉะ ไม่ชอบอยู่บริเวณที่มีไม้พื้นล่างขึ้นรกทึบ หากินด้วยการกระโดดหาแมลงบนพื้นดินกินหรืออาจขุดไส้เดือนดินขึ้นมากิน หรือกบตัวเล็กๆ และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กด้วย โดยเฉพาะในช่วงมีลูกอ่อน ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน ออกไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง

bottom of page