top of page

พะยูน, หมูดุด หรือ หมูน้ำ(Dugong)


ประชากรรวม : ประมาณ 27,000 – 30,000 ตัว
ประชากรในประเทศไทย : ประมาณ 150 ตัว

พะยูน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล มีรูปร่างคล้ายแมวน้ำขนาดใหญ่ที่อ้วนกลม ครีบมีลักษะคล้ายใบพาย วิวัฒนาการมาจากขาหน้า ใช้สำหรับพยุงตัวและขุดหาอาหาร ไม่มีครีบหลัง มีน้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัม ตามีขนาดเล็ก หูมีลักษณะเป็นรูเปิดเล็กๆ ไม่มีใบหู จมูกมีลิ้นปิดปิด จะเปิดขึ้นขณะที่พะยูนหายใจเข้า และปิดขณะที่พะยูนจมตัวลงใต้ผิวน้ำ พะยูนจะขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำนาน 1-2 นาที และกลั้นหายใจขณะอยู่ใต้ผิวน้ำได้ราว 20 นาที ลำตัวมีสีหลากหลาย เช่น น้ำตาลเทา, เทาอมชมพู หรือสีเทา รูปร่างคล้ายโลมา มีขนสั้นๆประปรายตลอดลำตัว และมีขนเส้นใหญ่หนาแน่นบริเวณรอบปาก ตัวผู้บางตัวเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจะมีฟันคู่หนึ่งงอกออกจากปากคล้ายงาช้าง ใช้สำหรับต่อสู้เพื่อแย่งคู่กับใช้ขุดหาอาหาร ในตัวเมียมีนมอยู่ 2 เต้า ขนาดเท่านิ้วก้อย ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร อยู่ถัดลงมาจากขาคู่หน้าสำหรับเลี้ยงลูกอ่อน

ในประเทศไทยพบพะยูนราว 150 ตัว พบมากที่สุดในบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม, เกาะลิบง-เกาะมุก จังหวัดตรัง อาหารหลักของพะยูน ได้แก่ หญ้าทะเลที่ขึ้นตามแถบชายฝั่งและน้ำตื้น หากินในเวลากลางวันและใช้เวลานานถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน พฤติกรรมการหากินจะคล้ายกับหมู โดยจะใช้ครีบอกและปากดุนพื้นทรายไถไปเรื่อย ๆ จนบางครั้งจะเห็นทางยาวตามชายหาด จากพฤติกรรมเช่นนี้ พะยูนจึงได้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "หมูน้ำ" หรือ "หมูดุด"

bottom of page